พฤติกรรมเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า
กระทรวงสาธารณสุข กำชับเจ้าหน้าเร่งให้ความรู้ “โรคซึมเศร้า” กับประชาชนและครอบครัว สังเกตอาการและรับคำปรึกษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน พร้อมประเมินโรคซึมเศร้าด้วยตนเองทางเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต แอพพลิเคชั่น smilehub หรือสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
วันนี้ (25 ธันวาคม 2560) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก คาดการณ์ว่าในปี 2020 โรคซึมเศร้าจะเป็นสาเหตุการสูญเสียปีสุขภาวะสูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจหลอดเลือด โดยวัดจากปีสุขภาวะที่สูญเสียไปจากโรคและการบาดเจ็บของประชากร (Disability-Adjusted Life Years-DALYs) จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับประเทศไทยถือเป็นปัญหาที่เฝ้าจับตามองอันดับ 4 เป็นเรื่องที่สังคมต้องให้ความสำคัญ เพราะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้หากมีอาการรุนแรงจะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย หรือมีชีวิตคล้ายคนพิการทางสมอง ไม่สามารถทำงานได้
กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด โดยกรมสุขภาพจิตได้ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคนี้แก่ประชาชนและเพิ่มการเข้าถึงบริการต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสามารถเข้าถึงบริการได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 50 พร้อมกำชับให้เจ้าสาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุข เร่งให้ความรู้ประชาชน ครอบครัว เพื่อให้สามารถสังเกตอาการและเฝ้าระวังความผิดปกติของตนเอง หรือผู้ใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ วัยรุ่น ผู้มีโรคประจำตัว และส่งเข้ารับคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่ นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
ทั้งนี้ โรคนี้ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ส่วนใหญ่มาจากปัญหา “กาย จิต สังคม” ทางกาย เช่น ผู้ป่วยมีความผิดปกติของระดับสารเคมีที่เซลล์สมองสร้างขึ้นเพื่อรักษาสมดุลย์ของอารมณ์ มีประวัติโรคซึมเศร้าในครอบครัว ซึ่งการรักษาจะใช้ยาช่วยปรับระดับสารเคมีในสมอง ทางจิตใจผู้ป่วยจะมีความคิดด้านลบกับทุกสิ่ง ในการแก้ไขจะใช้พฤติกรรมบำบัดโดยนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ และทางสังคม จากปัญหาครอบครัว การทำงาน การเรียน ยาเสพติด เป็นต้น ประชาชนสามารถประเมินตนเองด้วยแบบประเมินโรคซึมเศร้าได้ ทางเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต http://www.dmh.go.th/ และแอพพลิเคชัน smilehub หรือปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น